sobsuan.com :: ดูกระทู้ - ฉ้อโกง หรือจัดหางานโดยผิด กม.
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป |
ผู้ส่ง |
ข้อความ |
อ๊อด...ยาว สมาชิกใหม่

เข้าร่วมเมื่อ: 26/07/2009 ตอบ: 3
|
ตอบ: 26/07/2009 10:36 pm ชื่อกระทู้: ฉ้อโกง หรือจัดหางานโดยผิด กม. |
|
|
มีหญิงคนหนึ่ง...ตอนแรกทำทีว่ามีเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศ สามีชาวต่างประเทศเสียชีวิต ทิ้งมรดกไว้ให้หลายพันล้านบาท และกำลังไม่สบาย จึงวานให้ช่วยหาซื้อที่ดินในแถบจังหวัดภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ให้...อ้างว่าเป็นการโยกเงินมาเก็บไว้ในเมืองไทย มีการติดต่อและมีนายหน้าพาเดินทางไปดูที่ดินด้วยตนเองหลายครั้ง และพักที่โรงแรมในตัวเมืองแห่งหนึ่ง บางครั้งก็พักบ้านผู้ที่เป็นนายหน้าที่ดินบ้างในบางครั้ง จนสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกันกับคนที่พาไปดูที่ดินที่หวังค่านายหน้า รวมทั้งอ้างว่าที่ดินแปลงหนึ่งที่มาดูนั้นติดจำนองกับธนาคารแห่งหนึ่ง และได้พาผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่ ทนายความประจำธนาคารและช่างรังวัดมาดูที่ดินแล้ว(แต่นายหน้าไม่มีใครเห็น หรือทราบเรื่อง) รวมทั้งอ้างว่าได้นำเงินมามัดจำที่ดินอีกแปลงหนึ่งไว้แล้วหนึ่งล้านบาท...
ในและที่สุดก็บอกว่ามีญาติที่เมืองเดียวกัน ในประเทศนั้น มีธุรกิจอาบ อบ นวด และร้านอาหารไทย ต้องการคนไปทำงานตำแหน่งต่าง ๆ หลายคน ฝากให้นางคนนี้หาคนงานให้ด้วย(ภายหลังเรื่องที่ดินกลายเป็นเรื่องรอง) โดยเรียกเงินค่าดำเนินการเรื่องเอกสารเข้าเมือง คนละ 22,000 บาท ส่วนค่าเครื่องบินจะออกให้ก่อน ต่อเมื่อได้ทำงานที่ต่างประเทศแล้วจึงจะหักคืน มีคนหลงเชื่อ 20 กว่าคน(รวมทั้งนายหน้าที่ดินด้วย นัยว่าเป็นการตอบแทนที่ช่วยเหลือเป็นธุระช่วยพาไปดูที่ดินจนถูกใจ นอกเหนือที่จะซื้อบ้านและซื้อรถให้นายหน้าบางคนที่ถูกใจเป็นพิเศษด้วย)
พอถึงกำหนดนัดหมายเดินทางครั้งแรก(วันที่4 กรกฎา 52) ก็ไม่สามรถเดินทางได้อ้างว่าวีซ่าออกไม่ทัน ครั้งที่สอง(8 กรกฎา52) ก็ไม่สามารถเดินทางได้โดยอ้างว่าโรคหวัดระบาด มีคนป่วยไข้หวัด 2009 จากที่ส่งไปทำงานชุดก่อน ถูกส่งตัวกลับและมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. และเสียชีวิตไปคนหนึ่งเป็นชาวจังหวัดนครพนม ทำให้นางคนนี้ยุ่งยาก ต้องไปร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพทีนครพนม จึงมีนัดหมายครั้งที่สาม(17กรกฎา52)ก็ไม่สามารถเดินทางได้โดยอ้างว่า จนท.สถานฑูตผู้มีอำนาจลงนามในวีซ่าป่วย เดินทางไปรักษาตัวที่ประเทศอื่น ขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 27 เดือนเดียวกัน
ผู้ที่หลงเชื่อจึงมีการตรวจสอบแหล่งต่าง ๆตามที่นางคนนี้อ้างถึง เช่น สถานฑูต โรงพยาบาล โรงแรมที่พัก ผวจ. ผู้การกองกำกับการฯเพื่อขอทราบข้อเท็จจริง และขอความเห็นจากท่านเหล่านั้น ไม่ปรากฎหลักฐานการเข้าพักโรงแรม/ ไม่มีการยื่นขอวีซ่าตามหมายเลข/ ชื่อในพาสปอร์ตของคนที่จะเดินทาง/ ไม่มีคนป่วยมารักษาอาการไข้หวัดตายและเป็นคนจังหวัดนั้น/และมีความเห็นจากท่านทั้งสองให้แจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม โดยแจ้งความที่ตำรวจภูธรเมือง/ในต่างจังหวัด และประสานขอกำลังตำรวจใน กทม.เข้าร่วมจับกุม โดยวางแผนให้นางคนนี้ออกมารับเงินของผู้ที่สนใจจะเดินทางไปทำงาน ที่ฟิวเจ้อร์ปาร์ค รังสิต เมื่อถูกจับกุมได้ ผู้ที่แจ้งความจึงได้ออกค่าเดินทางให้สายสืบขึ้นเครื่อง เดินทางไปควบคุมตัวมาดำเนินคดีที่ตำรวจภูธรเมือง/ในต่างจังหวัด และเดินทางมาถึงที่คุมขังใน สภ.เมือง/ในต่างจังหวัดในเช้าวันที่ 22 กรกฎา52 นี้
เมื่อถูกจับกุมคุมขัง(วันที่ 22 กรกฎา) ผู้แจ้งความและผู้หลงเชื่อมีการเรียกเงินที่จ่ายไปคนละ 22,000 บาทคืน โดยบวกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง เป็นค่าเสียหาย ค่าเสียเวลาฯลฯ เป็นเงิน 550,000 บาท (จากจำนวนที่จ่ายจริง 506,000 บาท) นางคนนี้ต่อรอง ขอคืนเงินจำนวน 430,000 บาท ในวันรุ่งขึ้น(23 กรกฎา ซึ่งก็ได้รับแล้ว) และอีก 120,000 บาท จะนำมาจ่ายให้ในวันศุกร์ที่ 24 แต่พอถึงวันศุกร์ก็ขอเลื่อนเป็นวันเสาร์ และหายไปจนบัดนี้ (และผู้ที่นำเอาเงินมาคืนให้ มีพิรุธและสงสัยในพฤติกรรม ว่าเกี่ยวเนื่องกับนางคนนี้อย่างไรทั้งที่ไม่ใช่ญาติ และกลัวถูกจับกุมมาก ลักษณะคล้ายกับว่าจ้างให้เปิดบัญชีให้ โดยปกปิดชื่อที่อยู่เจ้าของเงิน และการมอบเงินให้นางคนนี้จะมารับเอากับมือตนเอง จากผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนคนหนึ่ง โดยจะไม่ผ่านระบบบัญชีธนาคาร ให้ปรากฎหลักฐานที่มาที่ไป หรือชื่อผู้ฝากที่แท้จริงเลย
หลังจากจับกุมตัวได้และเดินทางมาคุมขังไว้ที่ สภ.เมืองแล้ว ในระหว่างที่รอคนที่จะนำเงินมาคืนให้ ผู้เสียหายบางคนได้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดในบ่ายวันเดียวกันในข้อหาฉ้อโกง และหลอกลวงแรงงานเพิ่มเติมด้วย เพราะมีผู้เสียหายบางคนได้ลาออกจากงาน หรือบางคนได้เลิกกิจการที่ทำอยู่เพื่อเดินทางไปทำงานต่างประเทศตามที่หลงเชื่อ
และได้ขอร้องให้เจ้าพนักงานสอบสวนได้มอบผู้กระทำผิดให้กับร้อยเวรเจ้าของคดีคนใหม่ด้วย เพราะเป็นคนคนเดียวกัน
แต่เจ้าพนักงานสอบสวนได้บอกว่า ถ้าผู้ทำความผิดรู้ว่าโดนแจ้งข้อหาเพิ่มเขาก็จะไม่จ่ายเงินให้ เขาจะยอมติดคุก(รู้ได้ไง..ว่าเขาจะไม่จ่าย) และเป็นจรรยาบรรณที่พนักงานสอบสวนที่จะต้องบอกให้ผู้กระทำผิดรู้ และไม่ยอมอายัดตัวผู้กระทำผิดเมื่อเจ้าหน้าที่แรงงานได้มาแจ้งความ และให้ขออายัดตัวเพื่อดำเนินคดีต่อแล้ว
ซึ่งขณะนี้จากการติดตามข้อมูลจากคนที่เคยหลงเชื่อและยังลังเลอยู่ ถึงความเคลื่อนไหวของนางคนนี้ ทราบว่ายังคงหลอกล่อคนอื่น ๆ อยู่อีกสามถึงสี่คนในขณะนี้ และอ้างว่าจะพาเดินทางไปต่างประเทศในวันพรุ่งนี้ได้อีกด้วย
จึงขอความเห็นตามกรณีที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบที่กำหนดไว้ว่าถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่เพียงใด ตัวผู้เกี่ยวข้องมีตัวตนที่แท้จริง และพร้อมที่จะให้ข้อมูลที่เป็นจริงทุกประการ
ลิงก์ผู้สนับสนุน Sponsored Links
|
|
กลับไปข้างบน |
|
 |
อ๊อด...ยาว สมาชิกใหม่

เข้าร่วมเมื่อ: 26/07/2009 ตอบ: 3
|
ตอบ: 26/07/2009 10:54 pm ชื่อกระทู้: Re: ฉ้อโกง หรือจัดหางานโดยผิด กม. |
|
|
ในกรณีดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้มีบันทึกไว้ในสำนวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน ว่านางคนนี้จะนำเงินส่วนที่เหลือมาคืนเมื่อใด และหากไม่นำมาคืนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพียงแต่ได้มีการยึดบัตรประจำตัวประชาชนไว้เป็นหลักประกันเท่านั้น ทั้งที่ผู้เสียหายที่แจ้งความได้บอกให้บันทึกไว้ด้วยแล้วแต่ก็ไม่ได้มีการบันทึก และมีผู้รู้บอกว่าคดีได้สิ้นสุดแล้วไม่สามารถจะดำเนินคดีกับนางคนนี้ได้อีก อยากรู้ว่าจะเอาเสนียดสังคมคนนี้ติดคุกได้อย่างไร ช่วยเสนอแนะด้วย (เงินที่ได้มาแบ่งกัน หลังหักค่าดำเนินการ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆออกแล้วได้คืน เพียงคนละ 17,000 บาทเท่านั้น และนางคนนี้มันยังมีหน้าไปบอกกับคนที่หลงเชื่ออีกคนแต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์หลังจับกุม ว่าทำไมได้คืนเท่านี้ก็พี่จ่ายคืนให้ครบแล้ว และยังให้ตำรวจที่ทำคดีอีกตั้งสองหมื่นบาทด้วย!!!! ) |
|
กลับไปข้างบน |
|
 |
เทพธันเดอร์นครปฐม สุดยอดแฟนพันธุ์แท้


เข้าร่วมเมื่อ: 24/01/2008 ตอบ: 8190
|
ตอบ: 27/07/2009 11:22 am ชื่อกระทู้: |
|
|
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2542
พนักงานอัยการ จังหวัด ชัยนาท
โจทก์
นาย สาย น้อย ไม้ คำ
จำเลย
ป.อ. มาตรา 90, 343
พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน มาตรา 30, 82, 91 ตรี
จำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางาน ไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง อีกทั้งจำเลยกับพวกไม่สามารถที่จะส่งผู้ใดไปทำงานในต่างประเทศ ดังกล่าวได้ และทั้งไม่มีงานรออยู่ที่ประเทศดังกล่าวตามที่แจ้งแก่ ผู้เสียหายทั้งเจ็ด อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่า จำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายคงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง,82 การที่จำเลยกับพวกหลอกลวงประชาชนและผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่า จำเลยกับพวกสามารถหางานให้แก่คนหางานทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหาย ทั้งเจ็ดและส่งคนหางานทั่วไปและผู้เสียหายทั้งเจ็ดไปทำงานที่ ไต้หวัน และเกาหลีได้โดยผู้ที่จะไปทำงานที่เกาหลีต้องเสียเงินค่าบริการจัดการให้แก่จำเลยกับพวกคนละ 80,000 บาท และผู้เสียหายทั้งเจ็ดได้มอบเงินคนละ 80,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวกไปก็เพราะผู้เสียหายทั้งเจ็ดเชื่อตาม ที่จำเลยกับพวกหลอกลวงนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึง เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯมาตรา 91 ตรี และเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานฉ้อโกงตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก
________________________________
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91, 341, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 283,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 นับโทษของจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1243/2540 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงาน (ที่ถูกพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน) พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 3 ปี ฐานฉ้อโกงประชาชน ให้จำคุก 3 ปีรวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 283,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1243/2540 ของศาลชั้นต้นด้วยนั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่าจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่กล่าวในฟ้อง จำเลยกับพวกโดยทุจริตได้หลอกลวงประชาชนและนายโยธิน แสงเย็น นายบำรุง เหล่าพลายนาค นายสัญญา นุ้ยปลี นางสาวบุญเจิด นุ้ยปลีนางสาวทองรวม อัดตะพันธ์ นางสาวสมนึก แสงเย็นและนางสาวประทวน แห้วเพ็ชร ผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่าจำเลยกับพวกสามารถหางานให้แก่คนหางานทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งเจ็ดและสามารถส่งคนหางานทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งเจ็ดไปทำงานที่ดินแดน ไต้หวัน และประเทศเกาหลี ได้โดยผู้ที่จะไปทำงานที่ประเทศเกาหลีจะต้องเสียเงินค่าบริการจัดการให้แก่จำเลยกับพวกคนละ 80,000 บาท ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถที่จะส่งผู้ใดไปทำงานในต่างประเทศได้ ทั้งไม่มีงานรออยู่จากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดหลงเชื่อว่าเป็นความจริง ได้มอบเงินคนละ 80,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวกรับไป
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวหรือไม่ สำหรับความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 นั้น เห็นว่า คำฟ้องตอนแรกบรรยายว่าจำเลยกับพวกจัดหางานโดยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งเป็นคนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานที่ดินแดน ไต้หวัน และประเทศเกาหลี โดยเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นการตอบแทนการจัดหางานจากคนหางานและผู้เสียหายทั้งเจ็ด โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง แต่คำฟ้องของโจทก์ตอนหลังที่ว่า จำเลยกับพวกโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนโดยแจ้งว่าจำเลยกับพวกได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศและสามารถจัดส่งคนงานไปทำงานในโรงงานในดินแดนไต้หวันและประเทศเกาหลีได้โดยมีงานรออยู่ที่ดินแดนและประเทศดังกล่าวแล้ว และผู้ไปทำจะได้รับเงินเดือนเป็นค่าจ้างสูง ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลางอีกทั้งจำเลยกับพวกไม่สามารถที่จะส่งผู้ใดไปทำงานในต่างประเทศดังกล่าวได้ และทั้งไม่มีงานรออยู่ที่ดินแดน และประเทศดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ด คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดเท่านั้นการกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82ส่วนความผิดตามมาตรา 91 ตรี นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี บัญญัติว่า"ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ" จากข้อเท็จจริงที่ฟังยุติดังกล่าวข้างต้นการที่จำเลยกับพวกหลอกลวงประชาชนและผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่าจำเลยกับพวกสามารถหางานให้แก่คนหางานทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งเจ็ดและส่งคนหางานทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งเจ็ดไปทำงานที่ดินแดน ไต้หวัน และประเทศเกาหลี ได้ โดยผู้ที่จะไปทำงานที่ประเทศเกาหลีจะต้องเสียเงินค่าบริการจัดการให้แก่จำเลยกับพวกคนละ 80,000 บาท และที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดได้มอบเงินคนละ 80,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวกไปก็เพราะผู้เสียหายทั้งเจ็ดเชื่อตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวงนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี และเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรกที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือนความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
( ประมาณ ตียะไพบูลย์สิน - วิรัตน์ ลัทธิวงศกร - วินัส เรืองอำพัน )
หมายเหตุ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2542 ที่เขียนหมายเหตุนี้วินิจฉัยเกี่ยวกับการจัดหางาน ซึ่งมีข้อพิจารณาดังนี้
1. การจัดหางาน หมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง โดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม และให้หมายรวมถึงการเรียกเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจัดหางานให้คนหางาน(พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 4)
การจัดหางานตามบทวิเคราะห์ศัพท์ดังกล่าว สรุปให้เข้าใจง่าย ๆคือ การจัดให้มีงานทำ โดยจัดหาลูกจ้างให้นายจ้าง หรือจัดหานายจ้างให้ลูกจ้าง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเรียกหรือรับค่าตอบแทนหรือไม่ซึ่งปกติมักเรียกค่าตอบแทน
2. ประเภทของการจัดหางาน มี 2 ประเภท คือ การจัดหางานในประเทศกับการจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ
2.1 การจัดหางานในประเทศ
ผู้ที่จะจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานตามมาตรา 8
ผู้ขออนุญาตจัดหางานอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ โดยต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9
2.2 การจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ
ผู้ที่จะจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามมาตรา 30
ผู้ขออนุญาตจัดหางานดังกล่าวต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 31
3. ความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางาน
3.1 ผู้ที่จัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานตามมาตรา 8 มีความผิดตามมาตรา 73 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.2 ผู้ที่จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามมาตรา 30มีความผิดตามมาตรา 82 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานจัดหางานให้ทำในประเทศหรือให้ทำในต่างประเทศตามข้อ 3.1 และ 3.2 นั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ
(1) ผู้จัดหางานได้จัดหางานให้คนหางานเพื่อทำงานในประเทศหรือต่างประเทศโดยเจตนา
(2) โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางาน
ตัวอย่างที่ 1
นายดำตั้งสำนักงานประกอบธุรกิจจัดหางาน จัดหาลูกจ้างไปทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ หรือจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ และเรียกค่าตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางาน
กรณีนี้ นายดำมีเจตนาจัดหางานและได้จัดหางานแล้ว แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางาน จึงมีความผิดตามมาตรา 8 ประกอบมาตรา 73
ตัวอย่างที่ 2
บริษัท ก. มีวัตถุประสงค์ในการจัดหางาน จัดตั้งสำนักงานจัดหางานได้จัดส่งคนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศ โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนแต่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง มีความผิดตามมาตรา 30 ประกอบมาตรา 82
ตัวอย่างที่ 3นายแดงตั้งสำนักงานจัดหางาน อ้างว่าจะจัดส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศโดยที่ไม่มีเจตนาจะส่งคนไปทำงานต่างประเทศ เพียงแต่อ้างมาเพื่อหลอกลวงคนหางานเพื่อเรียกเอาเงินหรือทรัพย์สินจากคนหางาน
กรณีนี้ นายแดงไม่ได้มีเจตนาจะจัดหางาน เพียงอ้างการจัดหางานเป็นเครื่องมือเพื่อหลอกลวงเอาเงินหรือทรัพย์สินจากคนหางาน จึงไม่มีความผิดฐานจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามมาตรา 30 ประกอบมาตรา 82
ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2542 ที่เขียนหมายเหตุศาลฎีกาพิเคราะห์ว่า จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จึงไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศได้ และไม่มีงานรออยู่ที่ต่างประเทศที่จะส่งคนหางานไปทำได้ เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 30 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 82
4. ความผิดฐานฉ้อโกง
การที่จำเลยไม่มีเจตนาจัดหางาน แต่อ้างการจัดหางานมาหลอกลวงคนหางานเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง จนเป็นเหตุให้คนหางานหลงเชื่อ ยอมจ่ายค่าตอบแทนแก่จำเลย จึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หากจำเลยได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนทั่วไปจะมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
คดีนี้จำเลยได้หลอกลวงประชาชนและผู้เสียหายทั้งเจ็ดจนได้เงินจากผู้เสียหายคนละ 80,000 บาท จึงมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
5. ความผิดฐานหลอกลวงผู้หางาน
ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้เป็นเหตุให้ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง มีความผิดตามมาตรา 91 ตรี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีนี้ จำเลยไม่สามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเพราะไม่มีงานรออยู่ที่ต่างประเทศ แต่หลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่าสามารถจัดส่งให้ไปทำงานที่ประเทศไต้หวันและเกาหลีได้โดยมีงานรออยู่แล้ว ทำให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดหลงเชื่อ และมอบเงินให้แก่จำเลยคนละ 80,000 บาท จึงมีความผิดตามมาตรา 91 ตรี ด้วย
6. ฟ้องศาลใด
ปัจจุบันศาลแรงงานไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา คดีฐานจัดหางานเพื่อทำงานในประเทศตามมาตรา 8,73 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับต้องฟ้องต่อศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ
ความผิดฐานจัดหางานเพื่อให้ทำงานในต่างประเทศตามมาตรา 30,82 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับต้องฟ้องที่ศาลจังหวัด ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ หรือศาลอาญาธนบุรี
ความผิดฐานหลอกลวงผู้หางานตามมาตรา 91 ตรีซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องฟ้องที่ศาลจังหวัดศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ หรือศาลอาญาธนบุรี
ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341ฟ้องที่ศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ ส่วนความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ต้องฟ้องที่ศาลจังหวัดศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ หรือศาลอาญาธนบุรี
ส่วนศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีแพ่งที่เป็นคดีแรงงาน เช่น ผู้จัดหางานผิดสัญญาจัดส่งไปทำงานที่ต่างประเทศไม่ตรงตามสัญญา ทำงานไม่ครบตามสัญญา หรือไม่ส่งไปทำงานตามสัญญา แล้วคนหางานมาฟ้องเรียกค่าใช้จ่าย ค่าบริการคืนหรือเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญา
สำหรับกรณีที่จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชนโดยอ้างการจัดหางานมาหลอกลวงคนหางานจนได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินของคนหางานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343หรือหลอกลวงว่าจะหางานหรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศจนได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน มาตรา 91 ตรี หากผู้เสียหายจะมาฟ้องเรียกเงินหรือทรัพย์สินคืนต้องฟ้องที่ศาลแขวงหรือศาลจังหวัดศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หรือศาลแพ่งธนบุรี แล้วแต่กรณีจะฟ้องที่ศาลแรงงานไม่ได้ เนื่องจากมิใช่มีมูลมาจากคดีแรงงาน
รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ |
|
กลับไปข้างบน |
|
 |
jobthai สมาชิกใหม่

เข้าร่วมเมื่อ: 28/12/2010 ตอบ: 11
|
ตอบ: 13/01/2011 9:08 pm ชื่อกระทู้: Re: |
|
|
ขอบคุณสำหรับข้อมูล |
|
กลับไปข้างบน |
|
 |
บุคคลทั่วไป

|
ตอบ: 02/03/2015 3:25 pm ชื่อกระทู้: Re: |
|
|
แร้วกรณีเขาเต็มใจมาทำงานแร่วเราจัดหางานให้เขาโดยให้เขาออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างสุดท้ายเขาทำงานอยู่ไม่ได้กรณีนี้คนที่หางานให้ผิดกรือป่าวคร่าเพราะเขาไปแจ้งความเราหลอกลวงเขามาทำงานกะไม่มีใบอนุญาตจัดหางานคร่าช่วยกรุณาตอบด้วยน่ะคร่า |
|
กลับไปข้างบน |
|
 |
บุคคลทั่วไป

|
ตอบ: 02/03/2015 3:26 pm ชื่อกระทู้: Re: |
|
|
แร้วกรณีเขาเต็มใจมาทำงานแร่วเราจัดหางานให้เขาโดยให้เขาออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างสุดท้ายเขาทำงานอยู่ไม่ได้กรณีนี้คนที่หางานให้ผิดกรือป่าวคร่าเพราะเขาไปแจ้งความเราหลอกลวงเขามาทำงานกะไม่มีใบอนุญาตจัดหางานคร่าช่วยกรุณาตอบด้วยน่ะคร่า |
|
กลับไปข้างบน |
|
 |
|
|
|
|
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้ คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้ คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้ คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้ คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้ คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้ คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
|
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
| |